คู่มือป้องกันภัย – อินไซด์แคมปัส

22

 

 

ขึ้นชื่อว่า “อันตราย” ย่อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่มีวิธีป้องกันอันตรายได้ดีที่สุดวิธีหนึ่งนั่นคือ “ความไม่ประมาท” ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) มีกิจกรรมแสดงออกถึงความใส่ใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อความไม่ประมาทได้เป็นอย่างดี ด้วยการจัดทำ ’คู่มือป้องกันภัย 8 ประการ“ ประกอบ ด้วย ป้องกัน..โจรกรรมลักทรัพย์ในที่พักอาศัย, ป้องกัน..แท็กซี่มหาภัย, ป้องกัน..ถูกข่มขืน, การเอาตัวรอดจาก..ถูกข่มขืน, การเอาตัวรอดจาก..อัคคีภัย, ป้องกัน..จากรถตู้โดยสาร, ป้องกัน..โรคจิต และป้องกัน..ถูกชิงทรัพย์–ทุบกระจก

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายการเงินและบริหาร มธบ. กล่าวว่า คู่มือป้องกันภัยนับเป็นหนึ่งในหลาย ๆ มาตรการที่มหาวิทยาลัยทำขึ้นเพื่อรณรงค์ให้นักศึกษาตระหนักถึงเรื่องสำคัญ ๆ ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังสำหรับการใช้ชีวิตในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เนื่องจากนักศึกษา มธบ.ส่วนใหญ่จะเดินทางมาจากต่างจังหวัดอาจไม่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งนี้มหาวิทยาลัยถือเอานโยบายด้านความปลอดภัยและการดูแลนักศึกษาให้อยู่ดีมีความสุขเป็นนโยบายสำคัญที่สุด

“มหาวิทยาลัยมีโครงการหลากหลายที่จะดูแลนักศึกษาทุกคน โดยเฉพาะหลายคนที่มาจากต่างจังหวัด แต่ก่อนอยู่กับพ่อแม่แล้วต้องมาใช้ชีวิตคนเดียวอยู่ในกรุงเทพฯ บางคนก็เพิ่งมามีแฟนครั้งแรกในมหาวิทยาลัย อาจยังไม่รู้จักวิธีการดูแลตัวเองอย่างดีพอ ทางมหาวิทยาลัยก็จะมีโครงการสู่อ้อมกอดสำหรับนักศึกษาใหม่ให้รู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่กับครอบครัว และระหว่างการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยก็จะมีโครงการกัลยาณมิตร เพื่อให้นักศึกษาได้มีเพื่อนที่คอยให้คำปรึกษา และที่สำคัญจะมีการฝากฝังอาจารย์ที่ปรึกษาให้ช่วยกันดูแลเรื่องการดำรงชีวิตประจำวันของนักศึกษาอีกทางหนึ่งด้วย”

นายทนงศักดิ์ ภูมิอาจ ผู้อำนวยการฝ่ายอาคารสถานที่และซ่อมบำรุง มธบ. กล่าวว่า คู่มือป้องกันภัย 8 ประการ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ของนักศึกษาและบุคลากร ประมาณ 20,000 คนในรั้ว มธบ. ฝ่ายอาคารฯ ใช้วิธีประชาสัมพันธ์วิธีการป้องกันภัยด้วยการแจกคู่มือ จำนวน 4,000 เล่ม พร้อมติดข้อความผ่านทางกระดานกิจกรรมและข้อความดิจิทัลทั่วบริเวณมหาวิทยาลัย รวมถึงเปิดช่องทางดาวน์โหลดคู่มือผ่านเว็บไซต์ http://www.dpu.ac.th โดยเป้าหมายสำคัญในการจัดทำคู่มือก็เพื่อรณรงค์ให้นักศึกษาตระหนักถึงภัยต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเองได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะนักศึกษาซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นอาจประมาทหรือคาดไม่ถึงว่าบางสถานการณ์มีความล่อแหลมและเสี่ยงอันตราย ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องเหล่านี้ไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

“ฝ่ายอาคารฯ จะมีการหมุนเวียนกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้นักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังภัยด้านต่าง ๆ อาทิ ภัยจากอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชน เนื่องจากด้านหน้ามหาวิทยาลัยเป็นเส้นทางขับขี่มีรถยนต์และรถจักรยานยนต์จำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้อบรมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและแม่บ้าน เพื่อคอยเฝ้าระวังดูแลนักศึกษาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบางรายที่อาจมีอาการป่วยทางจิต อาทิ มีอาการเหม่อลอย ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะความเครียดจากการสอบ หรือกรณีนักศึกษาบางคนมีปัญหาเรื่องความรัก เป็นต้น”

ผอ.ฝ่ายอาคารฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับการดูแลทางด้านกายภาพ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดมากกว่า 100 จุดทั่วมหาวิทยาลัย ขณะที่ได้ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมภายนอกโดยรอบ อาทิ การขอความร่วมมือวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่นักศึกษาใช้บริการเป็นประจำ ให้แต่งกายและบริการนักศึกษาโดยสุภาพ ทั้งหมดนี้ก็เพราะความห่วงใยในความปลอดภัยของนักศึกษา เพราะทุกเสี้ยววินาทีแห่งชีวิตคือความปลอดภัย ดังนั้นหวังว่านักศึกษาทุกคนจะใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท.

ครบเครื่องเรื่องแคมปัส
คลิกอินไซด์แคมปัส dailtnews online

 

Credit : http://www.dailynews.co.th/education/194281

 

 

Tags: , , ,

Leave a comment